ประวัติผู้ก่อตั้ง
Oct 24, 2024 10:39 PM โดย นายปรีชา เริงสมุทร์ประวัติผู้ก่อตั้งปอเนาะบ้านลุ่ม โรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา
อัลมัรฮูม ตวนฆูรู ฮัจยี ซะการียา บินอับดุลมานาฟ กาเหย็ม

ประวัติส่วนตัว
อัลมัรฮูม ตวนฆูรู ฮัจญี ซะการียา บินอับดุลมานาฟ กาเหย็ม เป็นที่รู้จักกันในนามบาบอย่า ปอเนาะบ้านลุ่ม เกิดเมื่อวันที่ 10 เดือน กรกฎาคม พ.ศ 2488 ท่านได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮเมื่อ วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2565 รวมอายุได้ 77 ปี
ท่านเป็นบุตรคนแรกของ อัลมัรฮูมฮัจญีอับดุลมานาฟ บินฮัจญีอุมัร กาเหย็ม กับ ฮัจญะห์ฮาวา บินตี อับดุลเราะห์มาน มีพี่น้อง 5 คน เป็นชาย 2 คน เป็นหญิง 3 คน ถือกำเนิดที่บ้านท่าโพธ์ อ.สะเดา จ.สงขลา คุณพ่อของท่านเป็นคนมีน้ำใจ มีจิตใจเมตตา ชอบช่วยเหลือผู้คน เป็นคนกว้างขวางในพื้นที่จังหวัดสงขลา และมักให้การช่วยเหลือ บริจาค และส่งเสริมงานศาสนาอยู่เสมอ
ท่านได้แต่งงานกับ มามาซอฟียะห์ ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของโต๊ะครูอิสมาแอล เบ็ญโกบ กับ ฮัจญะห์สาหรอ บินตี ฮัจญีสอแหล๊ะ ผู้ก่อตั้งปอเนาะดินลาน ในขณะที่ท่านอายุได้ 24 ปี ก่อนเดินทางไปเรียนต่อที่เมืองมักกะห์ มีบุตรและธิดาด้วยกัน จำนวน 5 คน ดังนี้
- ดร. อับดุลรอหมาน กาเหย็ม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ปี 2556 – 2562 และปี 2564- 2567), คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย, เลขานุการคณะกรรมอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และผู้จัดการโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา
- อ. ไพศาล กาเหย็ม นายกสมาคมผู้ประกอบการฮัจญ์และอุมเราะห์ภาคใต้ และรองผู้จัดการโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา
- ดร.ตะเหล็บ กาเหย็ม นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา คนที่ 3 (ปี 2555-2557) และผู้อำนวยการโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา
- อ.อามีหน๊ะ เริงสมุทร์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา
- อ.หะสัน กาเหย็ม นายกสมาคมนักเรียนไทยในกรุงไคโร ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ปี 2559-2560) และรองผู้อำนวยการโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา

ประวัติการศึกษา
บาบอซะการียา กาเหย็ม เรียนสามัญจบ ป.4 จากโรงเรียนบ้านท่าโพธิ์ ได้เรียนศาสนาพื้นฐานกับโต๊ะครูยีเป็น ชาวอินโดนีเซีย ที่มาสอนศาสนาในแถวคลองเเงะ อ.สะเดา จ.สงขลา หลังจากเรียนจบได้เดินทางไปเรียนที่ปอเนาะทรายขาว ปัตตานี กับโต๊ะเย๊าะห์หมีน ทรายขาว ราวปีกว่าๆ แล้วไปเรียนต่อที่ ปอเนาะดาลอ จ.ปัตตานี ในขณะที่ท่านอายุเพียง 12 ปี ซึ่งสมัยนั้นโต๊ะครูฮัจญี อับดุลเราะห์มาน อัลอัรชาดี (โต๊ะดาลอ) ผู้ก่อตั้งปอเนาะดาลอยังเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยตนเอง เมื่อมีเวลาว่างท่านได้ไปเรียนเพิ่มเติมกับโต๊ะครูปาเงาะฮ์เด ที่บ้านครูของท่านหน้าปอเนาะดาลอ และเรียนเพิ่มเติมที่ปอเนาะสกัม กับโต๊ะครูเด สกัม
ปอเนาะดาลอถือเป็นสถาบันที่ได้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบปอเนาะ และได้ผลิตนักศึกษาเป็นจำนวนหลายหมื่นคน ในจำนวนนี้ได้เป็นอุลามาอ์แห่งเอเชียอาคเนย์นับร้อยคนทั่วทุกสารทิศ ทั้งในประเทศไทย รัฐกลันตัน ตรังกานู เปรัค เคดาห์ เปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย หรือแม้กระทั่งในมหานครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอารเบีย
สำหรับการเรียนการสอน มีหลากหลายวิชาให้เลือกเรียน แต่ละวิชาแบ่งย่อยเป็นเล่มๆ ตามลำดับ เล่มใหญ่หน่อยใช้สอนระดับสูง ส่วนเล่มรองลงมาใช้สอนระดับรองลงมา วิชาสำคัญๆ ได้แก่ วิชาตัฟซีร ว่าด้วยการขยายความหมายของคัมภีร์อัลกุรอาน วิชาฮาดีษ ว่าด้วยเรื่องวจนะของท่านศาสดา, วิชาเตาฮีด ว่าด้วยเรื่องหลักศรัทธาของศาสนาอิสลาม, วิชาฟิกฮ์ ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน วิชาตาเซาวูฟ ว่าด้วยเรื่องการควบคุมจิตใจ ทำให้จิตใจเยือกเย็น อยู่อย่างสงบ
จากห้าวิชาหลักนี้ แตกแขนงผ่านกีตาบต่างๆจำนวนหลายร้อยเล่ม หากจะศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้จริงๆ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสิบปี คนที่เข้ามาเรียนที่ปอเนาะดาลอ ส่วนมากเรียนหกถึงเจ็ดปี ก็ออกไปแล้ว มีไม่มากนักที่อยู่ยาวถึงสิบปี
หนึ่งในนั้นมี บาบอย่า ที่เรียนปอเนาะดาลอจนครบ 12 ปี ในระหว่างที่เรียนก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนให้เด็กปอเนาะรุ่นน้อง หลังจากเรียนครบเวลาเเล้ว จึงกลับบ้านไปบ้านที่ท่าโพธิ์ จ.สงขลา เตรียมการ เตรียมความพร้อมที่จะไปเรียนต่อที่มักกะห์
ในระหว่างนั้น มีผู้หลักผู้ใหญ่ของสังคมมุสลิมสงขลา ได้ชักชวนให้ไปสู่ขอมามาซอฟียะห์ ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของโต๊ะครูอิสมาแอล เบ็ญโกบ ผู้ก่อตั้งปอเนาะดินลาน ท่านได้ตอบรับคำชักชวน ไปสู่ขอมามาซอฟียะห์ ในขณะที่ท่านอายุ 24 ปี หลังเเต่งงานท่านได้ไปสอนหนังสือ ที่ปอเนาะดินลาน จ.สงขลา ท่านสอนกีตาบมุตอลาอีน วิชานาฮู และกีตาบเล่มอื่นๆ ที่ลูกศิษย์ขอเรียน
หลังจากสอนได้ 1 ปี ท่านได้เตรียมการที่จะเดินทางไปทำฮัจย์ครั้งเเรก และเรียนต่อที่มักกะห์ เป็นเวลา 6 ปี ซึ่งครูของท่าน มีดังนี้
1. โต๊ะครูญาเลล อินโดนีเซีย ผู้อำนวยการมัดราซะฮ์อินโดนีเซีย
2. เชคอาลาวีย์ อัลมักกีย์ ชาวซาอุดิอราเบีย วิชาฮาดีษและตัฟซีรกุรอาน
3. เชค อับดุลการีม บันญาร
4. เชคอับดุลกอเดร บินอับดุลมุตตอเล็บ อัลมัลดีลีย์ชาวอินโดนีเซีย ผู้ประพันธ์กีตาบวิชาปนาวาร วิชาตะเซาวุฟ
5. ครูหลี ไชยา วิชาฟิกฮ์และตะเซาวุฟ
6. ครูเส็น สุราษฎร์
7. ครูฮัจญีซอและห์ มาเลเซีย

บาบาอับดุลมาลิก เริงสมุทร์ เพื่อนของท่านสมัยเรียนมักกะห์ด้วยกัน ได้เล่าให้ฟังถึงความขยันเรียนของท่านว่า “ผมไปมักกะห์หลังครูย่า 1 ปี ที่มักกะห์เราอยู่บ้านใกล้กัน เดินไปเรียนที่มัสยิดฮะรอมด้วยกัน เรียนกับครูหลี ไชยา กลุ่มเดียวกัน แต่ครูย่าเรียนกับครูเส็น สุราษฎร์คนละเวลากับผม ตอนกลางวันผมไปเรียน ดารุ้ลอูลูม แต่ครูย่าไปเรียนมัดราซะห์อินโดนีเซีย ที่โต๊ะครูญาลีลเป็นผู้อำนวยการอยู่ มัดราซะห์อินโดนีเซียนั้นเรียนยาก สอนกีตาบสูงๆ คนไหนจบมาจากที่นี่ได้ถือว่าความรู้ดีมาก ซึ่งครูย่าเรียนจนจบ ได้ชะฮาดะห์ ใช้เวลาเรียนแค่ สามสี่ปี”
ท่านยังเล่าให้ฟังถึงบุคลิกภาพของท่านอีกว่า “ครูย่าเป็นคนพูดน้อย คร่ำเคร่งอยู่กับตำราเรียนทั้งวัน ทั้งคืน ช่วงหลังๆ ช่วยสอนรุ่นน้องๆ ที่มามักกะห์ใหม่ๆ ด้วย เราจะได้คุยกันมากๆตอนไปกินนุหรี่ ไปทานอาหารที่คนไทยในมักกะห์จัดเลี้ยง เรามักจะถกกันถึงมัสอาละห์ต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งการตอบคำถามของครูย่าฉะฉานมาก อ้างอิงตัวบททั้งกุรอาน ฮาดิษ และตัวอย่างจากกีตาบต่างๆได้ครบถ้วน ส่วนมามาซอฟียะห์ท่านเก่งเรื่องกุรอานมาก ท่านเป็นศิษย์เอกของบาบอเจ๊ะมะ ชาวมาเลเซีย ซึ่งเชี่ยวชาญการอ่านกุรอานทั้งเจ็ดกีรออะห์ ผมได้ไปเป็นลูกศิษย์ของบาบอเจ๊ะมะได้ไม่กี่ครั้ง เพราะต้องต่อแถวยาวมาก ทุกคนต้องเข้าอ่านตัวต่อตัวกับท่าน แล้วครูเจ๊ะมะจะเอากุรอานของเเต่ละคนไปเขียน ทำสัญลักษณ์ วิธีอ่านแต่ละแบบให้”
“หลังจากกลับจากมักกะห์ เราก็แทบไม่ได้ติดต่อกันเลย ทราบข่าวว่าท่านไปเปิดปอเนาะที่บ้านลุ่ม อ.สะเดา จ.สงขลา หลังจากกลับจากมักกะห์” บาบาเล่าต่อ
บาบอย่า หรือโต๊ะครูซะการียา กาเหย็ม กลับมาเมืองไทย หลังจากเรียนที่มักกะห์เป็นเวลา 6 ปี ท่านก็จบหลักสูตรของมัดราซะห์อินโดนีเซีย และจบกีตาบหลายเล่มกับครูของท่านในมัสยิดหะรอม หลังจากกลับจากมักกะห์ท่านได้ไปเปิดปอเนาะที่บ้านลุ่ม อ.สะเดา จ.สงขลา
ประวัติการทำงาน
พอกลับถึงเมืองไทย ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านลุ่ม อ.สะเดา จ.สงขลา ได้ไปขอท่านให้มาเป็นเป็นโต๊ะครูที่ปอเนาะบ้านลุ่ม ซึ่งตอนนั้นปอเนาะบ้านลุ่มได้เปิดสอนอยู่เเล้วแต่โต๊ะครูที่ดูแลอยู่ก่อนเสียชีวิต ไม่มีทายาทที่จะดำเนินการสอนต่อไปได้ ท่านได้ตอบรับแล้วมาสอนที่ปอเนาะบ้านลุ่มตั้งเเต่ปี 2515 (เกือบ 50 ปีก่อน) มีการจัดการเรียนการสอนภาควิชาศาสนา ทักษะชีวิต และการเป็นผู้ตาม ผู้นำทางด้านศาสนาอิสลาม ในช่วงแรกมีนักเรียนเพียงไม่กี่คนแต่ได้รับความนิยมอย่างมากหลังจากปีที่ 20 เคยมีนักเรียนจํานวนมากกว่า 500 คน ซึ่งเดินทางมาเรียนจากในจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส นอกจากนี้ยังมีจังหวัดที่ไกลออกไป กระบี่ ระนอง กรุงเทพ เป็นต้น บางส่วนข้ามแดนมาเรียนจากต่างประเทศ ไม่ว่าพม่า มาเลเซีย กัมพูชา อินโดนีเซีย เป็นต้น

สิ่งที่ส่งต่อมายังชนรุ่นหลัง
ปี พ.ศ. 2534 อ.ไพศาล กาเหย็ม ได้ริเริ่มเปิด ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนขึ้น บาบอซะการียา กาเหย็มได้ตั้งชื่อศูนย์ว่า ศูนย์พัฒนธรรมศึกษา ชื่อมาจากภาษาอาหรับ النهضة الدينية ให้บริการการศึกษานอกโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย และเป็นต้นแบบของการเปิดศูนย์ กศน. ในต่างประเทศ โดย อ.ไพศาล กาเหย็ม ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปเปิดศูนย์ กศน. แห่งกรุงไคโร ประเทศอิยิปต์ ซึ่งเป็นศูนย์ กศน. แห่งเเรกของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
ปี พ.ศ. 2541 ทางปอเนาะได้รับมอบกิจการโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา จากอําเภอสะบ้าย้อย คณะผู้บริหารชุดใหม่ ได้มีมติให้ ย้ายกิจการโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา จากอําเภอสะบ้าย้อยมาตั้งที่ปอเนาะบ้านลุ่มแห่งนี้ โดยมี ดร. อับดลรอหมาน กาเหย็ม เป็นผู้จัดการโรงเรียน และ มี ดร.ตะเหล็บ กาเหย็ม เป็นครูใหญ่ โดยเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนจํานวน 120 คน
ปีพ.ศ. 2547 โรงเรียนได้โอนกิจการดำเนินงานภายใต้มูลนิธิเพื่อการศึกษาดารุนนาอีม โดยมี ดร.ตะเหล็บ กาเหย็ม เป็นผู้รับใบอนุญาตและผู้อํานวยการโรงเรียน และได้ขยายหลักสูตรครบทุกช่วงชั้น ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
ปีการศึกษา 2565 นับเป็นปีที่ 50 ของการจัดการเรียนการสอน ปัจจุบันได้รับการจัดประเภทเป็น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขนาดใหญ่ โดยมีนักเรียนทั้งสิ้น 1,983 คน โรงเรียนสังคมอิสลามวิทยาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขนาดใหญ่ สังกัดสํานักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน มาจากการวางรากฐานของ อัลมัรฮูม โต๊ะครูซะการียา กาเหย็ม
ขอดุอาให้อัลมัรฮูม ตวนฆูรู ฮัจญี ซะการียา กาเหย็ม ได้ปลอดภัยในกุโบร์ และได้รับสวรรค์ในการทำงานหนักในหนทางของอัลลอฮ อามีน
_1727084447.png)